ทำเงินหมื่นล้าน “ทีมพรีเมียร์ลีก” เล็งใช้สนามเหย้าจัด “ซูเปอร์โบวล์” ปี 2026

พรีเมียร์ลีก

ทีมดังพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพศึกซูเปอร์โบวล์ในปี 2026 เผยเป็นอีเวนต์กีฬาที่สร้างรายได้ราวหมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เอ็นเอฟแอล ก็กำลังพิจารณาแผนการขยายฐานแฟนกีฬาชนิดนี้นอกประเทศสหรัฐอเมริกาให้มีจำนวนมากขึ้น โดยหลังจบศึกซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 56 ระหว่าง แอลเอ แรมส์ พบกับ ซินซินเนติ เบงกอลส์ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ ที่รัฐแคลิฟอร์เนียแล้ว ก็ได้กำหนดเมืองเจ้าภาพล่วงหน้าเอาไว้แล้ว 3 ปี ประกอบด้วย แอริโซนา, ลาส เวกัส และ นิวออร์ลีนส์ จากนั้นปี 2026 จึงจะเป็นคิวของเจ้าภาพในต่างแดน

ศึกซูเปอร์โบวล์ ถือเป็นอีเวนต์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแต่ละปีของสหรัฐอเมริกา โดย เอ็นเอฟแอล อ้างว่าการจัดการแข่งขันจะช่วยให้เมืองที่เป็นเจ้าภาพสามารถสร้างรายได้สูงถึง 300 ล้านปอนด์ (13,500 ล้านบาท) แม้ว่าตัวเลขนี้จะเคยมีผู้ออกมาโต้แย้งและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดก็ตาม

สำหรับการคว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพศึกซูเปอร์โบวล์นั้น จะไม่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดให้ เอ็นเอฟแอล และไม่มีขั้นตอนการเสนอตัวเหมือนกับการขอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหรือกีฬาโอลิมปิก โดย เอ็นเอฟแอล ได้กำหนดข้อเรียกร้องจากเจ้าภาพในประเด็นต่างๆ เช่น ที่จอดรถ โรงแรม และการยกเว้นภาษี

ขณะที่ สเปอร์ส หากไม่ประสบความสำเร็จในการขอเป็นเจ้าภาพซูเปอร์โบวล์ ก็ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ชื่อของสโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และช่วยดึงดูดบรรดาผู้สนับสนุนให้เข้ามาซื้อสิทธิ์ในการใช้ชื่อสนามเหย้าในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่ ซึ่งตั้งตัวเลขเอาไว้ที่มูลค่า 400 ล้านปอนด์ (18,000 ล้านบาท) ภายใต้สัญญาระยะยาว 20 ปี เพื่อถอนทุนคืนหลังใช้งบก่อสร้างสนามสูงถึง 1,000 ล้านปอนด์ (45,000 ล้านบาท)

แต่อุปสรรคสำคัญของ สเปอร์ส ในการขอเป็นเจ้าภาพอยู่ที่เรื่อง “ส่วนต่างของเวลา” ซึ่งเวลาที่กรุงลอนดอนจะเร็วกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 8 ชั่วโมง จึงอาจต้องกำหนดเวลาเริ่มการแข่งขันในช่วงที่ดึกมากของอังกฤษ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันนิยมติดตามชมการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลต่อการทำรายได้จากค่าโฆษณาและบรรดาสปอนเซอร์ โดยข้อมูลระบุว่าในแต่ละปี ศึกซูเปอร์โบวล์ มีจำนวนผู้ชมในแดนมะกันมากกว่า 100 ล้านคน

ส่วนคู่แข่งสำคัญที่จะมาแย่งชิงสิทธิ์กับ สเปอร์ส คือ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเวลากลางคืนในแดนจิงโจ้ตรงกับเวลา “ไพรม์ไทม์” ของการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาของ เอ็นเอฟแอล ก็เป็นได้