
การแบ่งแยกสีผิว ถือเป็นประเด็กใหญ่ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2021 เมื่อชาวเอเชียจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ถูกทำร้ายและได้รับความเกลียดชังจากเพื่อร่วมชาติ เพียงเพราะสีผิวที่แตกต่าง
ปัญหาที่เกิดขึ้น ชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง Invictus (2009) เรื่องราวของ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ที่สร้างความสามัคคีแก่คนในชาติด้วยกีฬารักบี้ ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวในประเทศแห่งนี้
นี่คือเรื่องราวที่จะย้ำเตือนทุกคนว่า การแบ่งแยกสีผิว สามารถทำร้ายเพื่อนมนุษย์ได้มากแค่ไหน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศแอฟริกาใต้
นโยบายถือสีผิว
ภาพยนตร์เรื่อง Invictus เริ่มต้นฉากแรกด้วยเหตุการณ์โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ นั่นคือการปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ที่ถูกจำคุกยาวนาน 27 ปี ด้วยความผิดฐานการก่อการร้าย และเป็นกบฏต่อชาติ
หนังเรื่องนี้พาผู้ชมย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 เราจะได้เห็นเด็กวัยรุ่นผิวดำที่ยากจนและไร้เสื้อผ้าสวมใส่ แสดงความดีใจที่เห็นฮีโร่ของพวกเขาได้รับอิสรภาพ
ขณะที่อีกฟากฝั่งของถนน นักกีฬาเยาวชนรักบี้ซึ่งทั้งหมดเป็นคนผิวขาว กลับยืนเกาะรั้วด้วยความประหลาดใจ เพราะพวกเขาไม่รู้จักแมนเดลา แถมเฮดโค้ชของทีมยังบอกเด็กเหล่านั้นว่า “นี่คือวันที่ประเทศของเราตกต่ำ”
ฉากแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้บ่งบอกถึงการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ก่อนปะทุเป็นความขัดแย้งระดับชาติ หลัง พรรคแห่งชาติ (National Party) พรรคการเมืองขวาจัดที่นิยมความสูงสุดของคนผิวขาว (White Supremacism) ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 1948 ทั้ง ๆ ที่ได้รับคะแนนโหวตรวมจากประชาชนทั่วประเทศน้อยกว่า อันเป็นเหตุจากระบบการเลือกตั้งแบบ “First-past-the-post” แบบเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา
เมื่อมีอำนาจในมือ รัฐบาลพรรคแห่งชาติ จึงประกาศนโยบาย “การถือผิว” (Apartheid) ถือเป็นระบบที่แบ่งแยกกลุ่มคนต่างเชื้อชาติให้แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ คนผิวดำไม่สามารถอาศัยในพื้นที่เดียวกันกับคนผิวขาว และไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา, การพยาบาล และบริการสาธารณะแบบเดียวกับคนผิวขาว